การถอนฟัน (Tooth Extraction)
การถอนฟัน เป็นการนำเอาฟันออกมาจากเบ้ากระดูกขากรรไกร ซึ่งสาเหตุที่จะต้องถอนนั้น มีหลายสาเหตุ คือ
- เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดความเสียหายขึ้นกับฟันมากเกินกว่าที่ทันตแพทย์จะซ่อมแซมแก้ไขได้
- ฟันผุรุนแรง จนเกิดความเสียหายขึ้นกับโพรงประสาทฟัน
- เป็นโรคเหงือกอย่างรุนแรง
- มีปัญหาฟันคุด
- และเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการจัดฟัน
นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลอื่น ๆ อีก เช่น การถอนฟันน้ำนมของเด็ก ที่ไม่ยอมหลุดออก เพื่อให้ฟันแท้ได้ขึ้นมา การถอนเนื่องจากมีอาการติดเชื้อ หรือถอนเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาโรคร้ายแรงบางอย่าง
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าจะต้องถอนฟัน ทันตแพทย์ จะซักประวัติการดูแลรักษาสุขภาพของคนไข้อย่างละเอียด ทั้งประวัติด้านการรักษาฟัน โรคประจำตัว และประวัติการใช้ยารักษาโรคต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังต้อง X-ray ฟัน เพื่อดูภาพรวม และหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด ในการถอนฟันดังนี้
- ดูความเกี่ยวข้องของฟันซี่ที่จะถอนกับฟันซี่อื่น ๆ
- ดูฟันบน และความเกี่ยวข้องกับไซนัส หรือโพรงอากาศข้างจมูก
- ดูฟันล่าง เพื่อดูความเกี่ยวข้องของเส้นประสาทกับกระดูกขากรรไกร ที่ทำให้รับรู้ความรู้สึกบริเวณขากรรไกรล่าง ฟันล่าง ปากล่าง และคาง
- ตรวจดูโอกาสที่อาจจะเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาเช่น การติดเชื้อ เนื้องอก และโรคเกี่ยวกับกระดูก
ในบางกรณีทันตแพททย์ จะสั่งยาแอนตี้ไบโอติก ให้คนไข้รับประทานทั้งก่อนและหลังการถอนฟัน ซึ่งยาดังกล่าวนี้ จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ ที่อาจเกิดขึ้นจากการถอนฟันได้ นอกจากนี้ ทันตแพทย์ จะแนะนำข้อควรปฏิบัติก่อนการถอนฟัน ดังต่อไปนี้
- งดน้ำและอาการก่อนการถอนฟันประมาณ 6-8 ชั่วโมง
- หากมีอาการไอ หรือหายใจไม่สะดวก หรือเป็นหวัด ควรรอให้หายจากอาการก่อน ประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนเข้ารับการถอนฟัน
- หากมีอาการเวียนศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน ในคืนก่อนหน้าที่จะเข้ารับการรักษาให้แจ้งทันตแพทย์ทันทีในตอนเช้า เพราะอาจจะต้องเลื่อน หรือเปลี่ยนแผนการรักษา
- ไม่ควรสูบบุหรี่ ในวันที่เข้ารับการรักษา เพราะอาจจะทำให้มีอาการปวดแผลที่เกิดจากการถอนฟันมากขึ้น เนื่องจากกระดูกเบ้าฟันอักเสบ
- หลังการถอนฟัน ไม่ควรขับรถกลับบ้านเอง และควรมีคนช่วยดูแล เพราะจะต้องมีข้อปฏิบัติหลังการถอนฟันอีกมากมาย
วิธีการถอนฟัน มี 2 วิธี คือ การถอนแบบธรรมดาทั่ว ๆ ไป และการผ่าตัด ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- การถอนฟันแบบธรรมดา การถอนฟันแบบนี้ ไม่มีความยุ่งยากหรือซับซ้อนใด ๆ เป็นวิธีการง่าย ๆ ซึ่งทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือ เข้าไปโยกให้ฟันหลวม เรียกว่า Elevator จากนั้นก็จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Forceps ดึงเอาฟันออกมา
- การผ่าตัดเพื่อนำฟันออก จะเป็นขั้นตอนที่มีความซับซ้อน จะใช้กับคนไข้ ที่มาด้วยสาเหตุฟันแตกหัก ลงไปจนถึงเหงือก หรือฟันไม่ได้โผล่พ้นเหงือกขึ้นมา ส่วนมากแล้ว การผ่าตัดนี้ ต้องทำโดยทันตแพทย์เฉพาะทาง ที่มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดฟันโดยเฉพาะ แต่ทันตแพทย์ทั่ว ๆ ไป ก็อาจทำได้เช่นกัน หากมีความชำนาญ ในการผ่าตัดนั้น ทันตแพทย์ จะใช้มีดกรีดลงไปที่เหงือก แล้วนำฟันออกมา
ทั้งนี้ ก่อนการถอนฟัน ทันตแพทย์จะให้ยาชา และบางรายอาจจะต้องให้ยาบางอย่างเพื่อให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ระหว่างการถอนฟัน คนไข้ จะต้องไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดใด ๆ ซึ่งหากมีความเจ็บปวดในระหว่างนั้น จะต้องรีบบอกให้ทันตแพทย์ทราบทันที และหลังจากการถอนฟัน ก็จะได้รับยาแก้ปวด พร้อมทั้งคำแนะนำในการดูแลบาดแผล ดังนี้
- รักษาความสะอาดเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- ให้กัดผ้าก็อช ที่ผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว เพื่อห้ามเลือดไว้ประมาณ 30-45 นาที
- ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการถอนฟัน ไม่ควรแปรงฟันในบริเวณที่อยู่ใกล้จุดที่ถอน รวมทั้งยังไม่ควรบ้วนปาก และสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอออล์
- อาจใช้ Ice pack ประคบ เพื่อลดอาการปวดและบวม รวมทั้งรับประทานยาแก้ปวดตามที่ทันตแพทย์สั่ง
- เมื่อพ้น 24 ชั่วโมงไปแล้ว ให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ
- รับประทานอาหารอ่อน ๆ และรสไม่จัด สัก 2-3 วัน
- หมั่นสังเกตอาการของตนเอง หากผ่านไป 2-3 วัน หรือประมาณ 1 สัปดาห์แล้วความเจ็บปวดไม่ทุเลาลง หรือมีอาหารบวม และมีความผิดปกติอื่น ๆ ให้รีบติดต่อเพื่อพบทันตแพทย์ทันที
อย่างไรก็ตาม เมื่อถอนฟันออกไปแล้ว คนไข้ จะต้องรับทราบข้อมูลอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อสูญเสียฟันซี่ใดซี่หนึ่งไป ฟันที่อยู่ข้างเคียงก็จะค่อย ๆ เคลื่อน หรือล้มเอียงไปในช่องที่ว่างอยู่ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นกัน ก็จะมีผลกระทบต่อไปในเรื่องของการเรียงตัวของฟัน ความสามารถในการบดเคี้ยว และการสบฟัน ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพของช่องปากต่อไปอีก ดังนั้น หลังการถอนฟัน ทันตแพทย์จึงแนะนำให้คนไข้ป้องกันการล้มเอียงของฟันซี่ที่อยู่ข้างเคียง ด้วยวีธีการใดวิธีการหนึ่ง เช่น ใส่ฟันปลอม ทำสะพานฟัน หรือปลูกถ่ายรากเทียม ต่อไป