ฟันร้าว เป็นลักษณะที่ฟันเกิดรอยแยก จะทำให้มีอาการปวดฟันที่ไม่สามารถบอกได้ชัดว่าเป็นซี่ใด มักจะปวดหรือเสียวเมื่อถูกความร้อน ความเย็น หรือเมื่อใช้เคี้ยว อาการปวดมักจะเป็นการปวดแปล๊บๆ พบในผู้สูงอายุ ฟันซี่ที่มักจะเกิดการร้าวได้บ่อยที่สุดคือ ฟันกรามล่าง รองลงมาคือ ฟันกรามน้อยบน และฟันกรามบน ตามลำดับ แนวร้าวที่เกิดพบได้ทั้งแนวขวางและแนวยาว หรืออาจเกิดได้ทั้งในแนวดิ่งและแนวนอน โดยอาการในระยะแรกนั้น อาจจะรู้สึกเสียวฟันเพียงเล็กน้อย ในระยะนี้การตรวจและถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์มักจะไม่พบความผิดปกติใดๆ ระยะต่อมาจึงจะเริ่มรู้สึกปวดฟัน และจะปวดมากขึ้นถ้ารอยร้าวขยายออกไป จนฟันซี่นั้นแตกอย่างสมบูรณ์
เราสามารถป้องกันฟันร้าวได้ดังนี้
– รักษาสุขภาพฟันให้แข็งแรง ด้วยการดูแลความสะอาดในช่องปาก ไม่ไห้มีโรคฟันผุ โรคเหงือก เพราะฟันที่แข็งแรงมีโอกาสร้าว จากการเคี้ยวอาหารน้อยลง
– ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเช็คและดูแลฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน
– หลีกเลี่ยงการกัดหรือเคี้ยวอาหารแข็ง
– หากเล่นกีฬาที่มีการกระทบกระแทก ควรใส่เมาท์การ์ดหรือฟันยางสำหรับนักกีฬา
– หากมีอาการนอนกัดฟัน ก็ต้องใช้ Night guard ใส่ในเวลานอน
แต่ถ้าหากมีฟันร้าวแล้วและมีอาการปวดหรือบวม ให้รับประทานยาแก้ปวดตามอาการ แล้วรีบนัดหมายเพื่อมาพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด