สะพานฟัน (Dental Bridge)

สะพานฟัน (Dental Bridge)

%e0%b8%aa%e0%b8%b0%e0%b8%9e%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%9f%e0%b8%b1%e0%b8%99

สะพานฟัน คือ ฟันปลอมชนิดติดแน่น ไม่สามารถถอดเข้าถอดออกได้ และประกอบไปด้วยครอบฟันมากกว่า 1 ซี่ ที่เชื่อมติดกันเหมือนสะพาน และครอบลงไปบนฟันธรรมชาติ แทนฟันที่สูญเสียไป สะพานฟันนี้ จะมีลักษณะเหมือนฟันธรรมชาติ ไม่ต้องมีตะขอเกี่ยว หรือแผ่นเหงือกเทียมรองรับ แต่จะต้องกรอฟันซี่ที่อยู่ด้านข้างของฟันที่สูญเสีย เพื่อใช้เป็นตัวยึดเกาะสำหรับฟันปลอมที่จะใส่เข้ามาแทนที่

สะพานฟันนั้น เป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้ที่ต้องสูญเสียฟัน ซึ่งจะทำให้คนไข้ กลับมายิ้มอย่างมั่นใจได้เหมือนเดิม เมื่อใส่สะพานฟันเข้าไปแล้วจะสามารถใช้งานฟันได้เป็นปกติ ทั้งการเคี้ยวอาหาร และการพูด นอกจากนั้น ช่วยให้รูปทรงของใบหน้า กลับมาเหมือนเดิมก่อนที่จะมีการสูญเสียฟันไป และยังช่วยป้องกันฟันซี่อื่น ๆ ไม่ให้ล้ม เพราะการมีพื้นที่ว่างบนเหงือกอีกด้วย

สะพานฟันที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ มี 3 ประเภท คือ

  • สะพานฟันแบบธรรมดา ( Traditional bridge) เป็นการครอบฟัน ซี่ที่อยู่ด้านข้างของฟันที่สูญเสียไป เพื่อเป็นที่ยึดเกาะฟันปลอมที่จะเข้ามาแทนที่ฟันที่สูญเสีย วิธีการนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุด วัสดุที่นำมาครอบจะเป็นฟอร์เซเลนหลอมเข้ากับโลหะ หรือเซรามิค
  • สะพานฟันแบบยึดด้านเดียว ( Cantilever bridge) เป็นการทำที่ยึดเกาะเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ของฟันซี่ที่สูญเสียไป แต่วิธีการนี้ ไม่ค่อยได้รับการแนะนำ เนื่องจากไม่สามารถรับแรงกัดหรือบดเคียวได้ดีนัก หากใช้งานหนัก อาจจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อซี่ฟันได้
  • สะพานฟันแบบแมรี่แลนด์ ( Maryland bonded bridge) หรืออาจจะเรียกว่า Resin-bone bridge ก็ได้ สะพานฟันแบบนี้จะมีแกนโลหะหรือพอร์เซเลน ที่มัลักษณะคล้ายปีกยึดติดด้านหลังของฟันสองซี่ ที่อยู่ติดกับฟันที่สูญเสียไป

ในการทำสะพานฟัน จะต้องพบทันตแพทย์หลายครั้ง แต่หลัก ๆ แล้ว จะมีแบ่งออกเป็น 2 ขั้น คือ

  • ขั้นแรก จะต้องเข้าพบเพื่อขอคำปรึกษาในการทำสะพานฟันกับทันตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ จากนั้น ก็จะมีการเตรียมการ ซึ่งในขั้นนี้ จะต้องเตรียมพื้นที่โดยการกรอฟันให้พร้อมสำหรับการครอบฟัน จากนั้นทันตแพทย์จะพิมพ์แบบ และส่งให้ห้องแลป เพื่อทำสะพานฟัน ที่มีขนาดสีสัน และรูปร่างที่เหมาะสม และเป็นธรรมชาติ ในระหว่างการรอสะพานฟัน ทันตแพทย์จะใส่สะพานชั่วคราวให้ก่อน
  • ขั้นตอนที่สอง ทันตแพทย์ จะนำสะพานฟันชั่วคราวออก และใส่สะพานฟันถาวรลงไปแทนที่ จากนั้นจะตรวจเช็ค ปรับขนาด และรูปร่างให้เหมาะสม เพื่อให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หลังจากใส่สะพานฟันถาวรลงไปแล้ว คนไข้ต้องมาพบทันตแพทย์อีก เพื่อดูผลการใช้งาน ซึ่งจะต้องมาพบบ่อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี

สำหรับอายุการใช้งานของสะพานฟันนั้น อยู่ในระหว่าง 5-15 ปี หรือบางรายอาจจะใช้ได้นานกว่านั้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา และการเข้าตรวจเช็คเป็นประจำ คนไข้ส่วนมากจะใช้สะพานฟันได้ในราว ๆ 10 ปี

การดูแลรักษาสะพานฟันนั้น เริ่มตั้งแต่หลังการใส่ ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก ไม่ควรกัด หรือเคี้ยวของแข็ง คนไข้บางราย มีอาการเสียวฟัน ซึ่งโดยปกติจะหายไปเอง แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ควรดื่ม หรือรับประทานอาหาร ที่ร้อน หรือเย็นจนเกินไป หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม หรืออาหารที่มีความเป็นกรดสูงอย่างเช่นมะนาว และเมื่อผ่านช่วงแรกไปแล้ว ก็ดูแลรักษาก็จะไม่ยุ่งยากไปจากการดูแลสุขภาพปากและฟันตามปกติประจำวัน ดังนี้

  • รักษาความสะอาดตามปกติ แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟัน และบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่ช่วยฆ่าเชื้อโรค
  • ดูแลรักษา และป้องกันฟันผุ และโรคเหงือก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการสูญเสียฟัน
  • มาพบทันตแพทย์ เพื่อการตรวจเช็คเป็นประจำทุก 6 เดือน ในการตรวจเช็คนี้ ทันแพทย์จะสามารถให้คำแนะนำได้ หากพบว่าการดูแลความสะอาด และวิธีการแปรงฟันยังไม่ถูกต้อง เพื่อป้องกันโรคที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะการทำความสะอาดผิดวิธี หรือไม่ทั่วถึง อีกทั้งรับคำแนะนำ และปฏิบัติอย่างถูกต้องนั้น จะช่วยยืดอายุการใช้งานของสะพานฟันให้ยาวนานขึ้นได้อีกด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ย้อนกลับด้านบน