ฟันคุด (Impacted Tooth)

ฟันคุด (Impacted Tooth)

%e0%b8%9f%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%b8%e0%b8%94

 

 

ฟันคุด คือฟันที่ขึ้นมาตามปกติไม่ได้ อาจจะไม่ขึ้นมาเลย หรืออาจฝังตัวในกระดูกขากรรไกร ในลักษณะเอียง หรือตะแคง ซึ่งมักเกิดขึ้นกับฟันแท้ซี่ในสุด

สาเหตุของฟันคุดนั้น มาจากการการที่ไม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะให้ฟันขึ้น ขากรรไกรอาจจะเล็ก หรือแคบเกินกว่าที่ฟันกรามซี่ที่งอกหลังสุดจะขึ้นมาได้ ฟันซี่สุดท้ายนี้จึงพยายามจะขึ้นมา แต่อยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม เช่น บิด เอียง หรือไปชนกับฟันซี่ที่อยู่ข้างเคียง และเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น มีปัญหากับการขบกัดเพราะแนวฟันไม่ปกติ เป็นที่สะสมของเศษอาหาร คราบหินปูน อันจะนำไปสู่การอักเสบของเหงือก การมีกลิ่นปาก และฟันผุ ทั้งซี่ที่เป็นฟันคุด และซี่ที่อยู่ถัดไปด้วย ดังนั้น แม้ว่าจะยังไม่เกิดปัญหา หรือผู้ที่มีฟันคุดจะยังไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ แต่ทันตแพทย์ก็จะแนะนำให้ถอนฟันคุดนั้นออก

จะทราบได้อย่างไรว่ามีฟันคุด โดยทั่วไป ฟันกรามซี่สุดท้ายนี้ จะขึ้นมาในช่วงอายุ 17-21 ปี ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อที่อยู่ต่อจากฟันซี่สุดท้าย อาจจะมีอาการบวม แดง และกดเจ็บ มองเห็นช่องว่างแต่ไมมีฟันขึ้น และหากเป็นมาก ก็อาจะมีอาการอื่น ๆ ดังนี้

  • มีกลิ่นปาก
  • บางครั้งอ้าปากไม่ขึ้น
  • ปวดเหงือก ปวดกระดูกขากรรไกร ตลอดจนปวดศีรษะ
  • เหงือกบวมแดง ในบริเวณที่มีฟันคุด
  • มีอาการต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอบวมเป็นครั้งคราว

ซึ่งเมื่อมาพบทันตแพทย์ ทันตแพทย์ก็จะตรวจภายในช่องปาก และ X-ray เพื่อดูตำแหน่ง ลักษณะการบิดเอียง และสภาพโดยรวมของขากรรไกร จากนั้นก็จะไปสู่ขั้นตอนของการรักษาด้วยการนำฟันคุดนั้นออก ซึ่งอาจจะเป็นการถอน หรือการผ่าตัดเล็ก

การถอนหรือการผ่าตัดฟันคุดนั้น จะไม่เหมือนกับการถอนฟันโดยทั้วไป เพราะฟันนั้น มีลักษณะบิดเอียง หรืออาจจะไม่งอกพ้นเหงือกขึ้นมา ดังนั้น อาจจะต้องมีการผ่าตัดเล็กร่วมด้วย แต่ทั้งนี้ สามารถทำได้ที่คลินิค หรือศูนย์ทันตกรรม โดยไม่จำเป็นต้องเข้าห้องผ่าตัด โดยมีขั้นตอนดังนี้

  • ทันตแพทย์อาจให้ยาแอนตี้ไบโอติกก่อนและหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ฉีดยาชา เพื่อระงับความรู้สึก
  • ผ่าเปิดเหงือก เพื่อให้เห็นฟันที่อยู่ด้านใน
  • ใช้เครื่องมือในการกรอกระดูก ตัดฟัน และแซะฟันคุดนั้นออก
  • ทำความสะอาดและเย็บแผล

กระบวนการในการผ่าเพื่อนำฟันคุดออกนั้น อาจจะใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ตามความยากง่าย และคนไข้สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ โดยมีคำแนะนำในการดูแลรักษา ดังนี้

  • กัดผ้าก็อชที่ผ่านการฆ่าเชื้อในบริเวณที่ผ่าฟันออกไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมงเพื่อห้ามเลือด ระหว่างนี้ คนไข้สามารถกลืนน้ำลายได้ตามปกติ
  • ไม่ควรบ้วนน้ำลายในวันแรกหลังการผ่าตัด และในวันที่ 2 สามารถบ้วนปากได้ แต่ต้องไม่บ่อย และไม่บ้วนแรง เพื่อป้องกันไม่ให้มีเลือดไหลออกมาอีก
  • ประคบน้ำแข็ง ในวันแรก และในวันที่สองสามารถประคบอุ่น เพื่อลดอาการบวม
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ส่วนอาหารนั้น ให้รับประทานอาหารอ่อน
  • งดการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาอย่างหนัก ในวันแรก
  • มาพบทันตแพทย์ตามการนัดหมาย เพื่อตัดไหม และหากพบความผิดปกติ เช่น เลือดไม่หยุด อาการปวดบวมไม่หายหลังผ่านการผ่าตัดมาหลายวันแล้ว อ้าปากไม่ได้ หรือมีอาการแพ้ยา ให้ติดต่อเพื่อเข้าพบทันตแพทย์ทันที

ทั้งนี้ เมื่อได้มีการผ่าตัดนำฟันคุดออกไปแล้ว คนไข้อาจสังเกตเห็นว่า บริเวณนั้น จะเป็นหลุม แต่ไม่ต้องวิตกกังวลใด ๆ เพราะแผลนั้นจะค่อย ๆ ตื้นขึ้นมาและหายสนิท ในเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ และการผ่าตัดเพื่อนำฟันคุดออกนี้ จะได้ผลดีหากผ่าออกก่อนอายุ 20 ปี เพราะรากฟันยังมีการพัฒนาไม่เต็มที่ ยิ่งอายุมาก รากฟันจะยาวขึ้นและมีคววามโค้งงอ ส่วนกระดูกก็จะยิ่งแข็งแน่น ทำให้การรักษายุ่งยากและมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนมากขึ้นด้วย

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ย้อนกลับด้านบน