ทันตกรรมจัดฟัน (Orthodontics)
ทันตกรรมจัดฟัน คือสาขาหนึ่งของทันตกรรม ที่ช่วยแก้ไขฟันและกระดูกขากรรไกร ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม แก้ไขปัญหาฟันยื่น ฟันจัดเรียงตัวไม่สวยงาม ส่งผลให้ยากต่อการทำความสะอาด อันจะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาฟันผุ และโรคเหงือก ปัญหาความตึงเครียดของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการเคี้ยวที่ไม่เหมาะสม และนำไปสู่อาการปวดศีรษะ ต้นคอ ไหล่ หลัง ตลอดจนเรื่องไม่สวยงาม จนทำให้ขาดความมั่นใจ
ดังนั้น การจัดฟัน จึงให้ประโยชน์ทั้งในด้านสุขอนามัยในช่องปาก การเสริมสร้างความมั่นใจ อีกทั้งการเป็นวิธีการรักษาเพียงแค่ครั้งเดียว ก็สามารถแก้ไขข้อบกพร่องหรือความผิดปกติให้คนไข้ได้ตลอดชีวิต
ทันตแพทย์ที่จะจัดฟันให้คนไข้ได้นั้น ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการจัดฟันโดยเฉพาะ ต้องผ่านการศึกษาในด้านนี้มาอย่างน้อยเป็นเวลา 2 ปี และได้รับการรับรองว่า เป็นทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาของการจัดฟัน
เรามีความจำเป็นต้องจัดฟันหรือไม่นั้น ต้องถามทันตแพทย์จัดฟัน เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เท่านั้น จึงจะตอบได้ว่าคนไข้ จะได้รับประโยชน์จากการจัดฟันหรือไม่ ในการตรวจวินิจฉัย จะต้องใช้ทั้งเครื่องมือ การการซักประวัติ ทั้งเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพปากและฟัน รวมไปถึงการใช้ยา นอกจากนั้น ยังจะต้องดูผล X-ray เพื่อประกอบการตัดสินใจ และเลือกวิธีการรักษาอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม เราสามารถดูได้เองในเบื้องต้น ว่าหากมีอาการดังต่อไปนี้ ก็มีความเป็นไปได้มาก ที่ทันตแพทย์จะแนะนำให้จัดฟัน
- ฟันบนยื่น (Overbite) เป็นลักษณะที่ฟันบนยื่นเลยออกมาจากฟันล่าง
- ฟันล่างยื่น (Underbite) หลาย ๆ คนชอบเปรียบเทียบว่าเป็นฟันบลูด็อก นั่นคือฟันล่าง จะยื่นเลยฟันบนออกมา
- สบฟันคร่อม (Crossbite) คือเมื่อกัดฟัน ฟันบนและฟันล่างจะไม่สบกันพอดี แต่จะคร่อม หรือไขว้กัน ฟันหน้าล่างคร่อมฟันหน้าบน
- ฟันไม่สบ (Open bite) นั่นคือเมื่อกันฟัน ฟันหน้าด้านบน และด้านล่าง ไม่สบกัน มีช่องเปิด ทำให้ไม่สามารถกัดอาหารให้ขาดได้
- ฟันสบลึก ( Deepbite) คือฟันหน้าด้านล่างสบกับฟันบนลึกเกินไป คือสบบริเวณลึกเกือบจะถึงคอฟันของฟันบนด้านใน หรือบางกรณีสบลึกถึงเหงือก
- ฟันเบี้ยว (Misplaced midline) เมื่อกัดฟันศูนย์กลางของฟันบน และฟันล่างจะไม่ตรงกัน
- ฟันห่าง (Spacing) มีช่องว่างระหว่างซี่ฟัน ส่วนหนึ่งเป็นสาเหตุมากจากการสูญเสียฟัน เช่นฟันหลุด ฟันหัก ถอนฟัน
- ฟันซ้อนเก (Crowding) คือฟันที่ขึ้นมาแล้วไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นปกติ อาจจะขึ้นซ้อนกัน หรือเกยกัน
เมื่อทันตแพทย์วินิตฉัยแล้วว่า คนไข้สมควรจะได้รับการจัดฟัน ทันตแพทย์ก็จะเลือกวิธีการที่เหมาะสม ซึ่งมีทั้งการติดเครื่องมือจัดฟันแบบถาวร และแบบถอดออกได้ เครื่องมือจัดฟันนี้ จะช่วยเคลื่อยย้ายฟัน และปรับกล้ามเนื้อ และขากรรไกร ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
- แบบติดเครื่องมือถาวรนั้น จะมีทั้งแบบที่เป็นโลหะ ติดอยู่ที่ฟันของผู้จัดฟัน มักเรียกกันง่ายว่า เหล็กจัดฟัน หรือ Braces นับเป็นเครื่องมือจัดฟันที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ข้อเสียคือมองเห็นชัดและทำความสะอาดยาก แต่หากต้องการความสวยงามเพิ่มขึ้น จะมีเครื่องมือที่เป็นเซรามิค หรือพลาสติก เรียกว่า Brackets เป็นสีเดียวกับฟัน ช่วยเรื่องความสวยงามได้ แต่มีราคาแพง แต่ถ้าไม่อยากให้เห็นเครื่องมือเลย ก็มีแบบติดด้านใน วิธีนี้ติดยาก และทำความสะอาดยาก
- เครื่องมือจัดฟันแบบถอดออกได้ ผู้จัดฟันสามารถถอดและใส่ได้ด้วยตัวเอง มีหลายชนิด ทั้งแบบรีเทนเนอร์พยุงฟัน ที่มีสปริงค์ติดอยู่ ซึ่งมักใช้กับผู้ที่ฟันไม่ผิดปกติมาก และแบบพลาสติกใสครอบฟันทั้งหมด ที่เรียกว่า Clear aligner สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการให้เห็นอุปกรณ์จัดฟันเลย เครื่องมือแบบถอดได้นี้ มีข้อจำกัดการใช้งานมาก ใช้ได้ไม่ทุกกรณี แต่สามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้
สำหรับช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับการจัดฟันนั้น ควรเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยอาจจะเริ่มเข้ารับการคำแนะนำตั้งแต่อายุ 6-7 ปี ในช่วงวัยนี้ฟันกำลังพัฒนาขึ้น และกระดูกขากรรไกรก็เริ่มเติบโต จึงสามารถจะเริ่มสังเกตเห็นฟันที่อาจเริ่มมีการซ้อนเก หรือมีปัญหาอื่น ๆ ทันแพทย์ก็จะแก้ไขได้ง่ายขึ้น การรักษาก็จะใช้เวลาน้อยลง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การดูแลสุขภาพปากและฟัน ในขณะระหว่างการจัดฟันนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากดูแลความสะอาดไม่ดีพอ หรือไม่ทั่วถึง ก็อาจทำให้มีคราบพลัก ที่เกิดจากการก่อตัวของแบคทีเรีย มาจับบริเวณที่ติดเหล็กดัดฟัน และอาจทำให้ฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือแม้กระทั่งสีของฟันในบางจุดเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพปากและความสะอาด ด้วยวิธีต่อไปนี้
- แปรงฟันหลังรับประทานอาหาร และของว่างทุกมื้อ รวมทั้งก่อนเข้านอน ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง ให้เตรียมอุปกรณ์ในการแปรงฟันไปด้วยเสมอ
- ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละครั้ง แต่ทั้งนี้เมื่อติดเหล็กดัดฟัน จะใช้ไหมขัดฟันยากขึ้น ควรถามวิธีการจากทันตแพทย์ และอาจจะให้ทันตแพทย์สาธิตให้ดูเพื่อให้เข้าใจและทำได้ง่ายขึ้น
- ไปพบทันตแพทย์ทุกครั้งที่นัดหมาย เพื่อตรวจเช็ค ทำความสะอาด และดำเนินการรักษาอย่างต่อเนื่องตามขั้นตอน